วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา รับเรือโครงการ”แพรวมใจสู้ภัยน้ำท่วม”


            เวลาประมาณ 12:00 น. วันที่ 18 พฤศจิกายน  2554  หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา  ได้เข้ารับเรือโครงการแพรวมใจสู้ภัยน้ำท่วม  จำนวน  30 ลำ  และเสื้อชูชีพจำนวน  600  ตัว  เพื่อส่งมอบให้กับกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ  หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าทหารหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง  เพราะเราๆท่านๆ  ทราบแต่เพียงว่าทหารคือรั้วของชาติ”  ที่จะต้องอยู่ตามชายแดนที่คอยปกป้องอธิปไตย  แม้แต่ผมเองก็ไม่ทราบมาก่อน  เลยลองค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท  และได้ข้อมูลมาเผยแพร่ให้ทราบหรือท่านจะเข้าไปดูรายละเอียดเองก็ได้ครับ โดยคลิกที่ลิ้งค์เชื่อมโยงด้านล่าง

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
ปัจจุบันท่าน  พลเอก ดุลกฤต  รักษ์เผ่า เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
         กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) ในอดีต หรือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) ได้สัมผัสกับความทุกข์ยากขาดแคลนของพี่น้องประชาชน  ในท้องถิ่นทุรกันดาร นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๐๕  อันเป็นวันก่อหน่วยตั้งเป็นต้นมานั้น  เราได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่เราควรทำ.........เพื่อประชาชน มาโดยตลอด ดังปรากฎเป็น ๘ แผนงานหลัก ที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารตลอดมา ได้แก่
        ๑.แผนงานสร้างเส้นทางคมนาคม  ถนนหนทางนับเป็นปัจจัยสำคัญในการนำความเจริญเข้าไปสู่ท้องถิ่น พร้อม ๆ กับการนำผลผลิต ของผู้คนออกมาสู่ตลาด อีกทั้งยังเป็นปัจจัยในการดำรงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย ขีดความสามารถในการสร้างเส้นทางคมนาคมของ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ทวีความก้าวหน้าทันสมัยขึ้นมา เป็นลำดับ จากถนนลูกรังบดอัดแน่น (ชั้นทาง F ๖) ในอดีต จนมาเป็นถนนลาดยาง (ชั้นทาง F ๔ ) ในปัจจุบัน นับหมื่นกิโลเมตรที่ตัดผ่านป่าทึบ ยอดดอยสูงชัน หรือแม้หุบเหวลึกล้ำ ล้วนเป็นผลงานที่ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เกิดความภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้เห็นรถของพี่น้องประชาชนขนพืชผักผลไม้วิ่งไปบนถนน และสะพานที่เราตั้งใจสร้างขึ้น และมอบให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของส่วนราชการในท้องถิ่น
     ๒.แผนงานส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์  ดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นถึงความต้องการปัจจัยในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชนในชนบทว่า นอกจากปัจจัย ๔ แล้ว อีกประการหนึ่งก็คือ การมีอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวนั้น อาชีพของประชากรส่วนใหญ่ ของไทยก็คือ อาชีพทางการเกษตร ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ดังนั้น อีกแผนงานหนึ่งของ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ก็คือ การเกื้อกูลแก่การประกอบอาชีพทางการเกษตร ให้ได้ผลมากขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะหมายถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องเกษตรกรตามไปด้วย อาทิ การผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง เพื่อผสมเทียมให้แก่แม่โคพันธุ์พื้นเมืองของเกษตรกร เพื่อให้ได้ลูกโคพันธุ์ผสมที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ, การผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดสนับสนุนเกษตรกร โรงเรียนและกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ และปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ, การจัดตั้งโครงการประมงหมู่บ้าน ประมงโรงเรียน รวมทั้งการผลิตเมล็ดพันธุ์หญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ การเพาะพันธุ์กล้าไม้ยืนต้น และการถ่ายทอดความรู้ ทางวิชาการเกษตรสู่พี่น้องเกษตรกร เพื่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ที่พอเพียงแก่การดำรงชีพ นอกจากนั้น ยังได้เริ่มดำเนินงานโครงการสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ปฏิบัติการของ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ มาตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖ เป็นต้นมา โดยร่วมมือกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน มีสหกรณ์การเกษตรในความดูแลรับผิดชอบของ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำนวน ๓๕ แห่ง กระจายอยู่ ทั่วทุกภูมิภาค
            ๓.แผนงานพัฒนาแหล่งน้ำ   ด้วยลักษณะการประกอบอาชีพของคนไทยที่อาศัยธรรมชาติเป็นสำคัญ เป็นเหตุให้ น้ำ ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะขาดเสียมิได้ ทั้งเพื่อการประกอบอาชีพ และเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ซึ่งแม้ในปัจจุบัน ก็ยังคงมีอีกหลายพื้นที่บนผืนแผ่นดินไทย ที่เรียกได้ว่า ขาดน้ำ แผนงานนี้จึงถูกกำหนด ขึ้นมารองรับปัญหาดังกล่าว ด้วยการแก้ไขภาวะขาดน้ำดังกล่าว ทั้งโดยการขุดสระเก็บน้ำ ขุดคลองส่งน้ำ หรือสร้างฝายกั้นน้ำ สุดแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ของชุมชน เอื้อต่อการประกอบอาชีพ และยังเป็นที่รองรับพันธุ์ปลาต่างๆ ที่หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ นำไปปล่อยไว้เพื่อขยายพันธุ์เป็นอาหาร สำหรับชุมชนต่อไปด้วย
       ๔.แผนงานพัฒนาชุมชนและสาธารณูปการ  แผนงานนี้เป็นไปเพื่อความเป็นระเบียบ เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นของชุมชน ที่ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา คำนึงถึงเป็นประการสำคัญ ได้แก่ การสร้างถนนภายในหมู่บ้าน การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล การสร้างระบบประปาหมู่บ้าน ระบบประปาภูเขา การสร้างถังเก็บน้ำฝน สร้างศาลาประชาคม ศาลาที่พักริมทาง และ สนามเด็กเล่น ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อการใช้ชีวิตอย่างร่มเย็น เป็นสุขของราษฎร
        ๕.แผนงานการสาธารณสุข  เป็นอีกแผนงานหนึ่งที่มุ่งกระทำเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎร ซึ่งได้แก่ การมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เริ่มตั้งแต่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่ถูกหลักสุขอนามัย การป้องกันโรค การวางแผนครอบครัว การสร้างสถานีอนามัยให้แก่หมู่บ้านและประสานขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ ประจำสถานีอนามัย นอกจากนั้น ทุกหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ยังได้ให้บริการตรวจรักษาโรคแก่ประชาชน ณ ที่ตั้งหน่วยโดยไม่คิดมูลค่า และจัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ออกไปให้บริการถึงหมู่บ้าน เพื่อบรรเทาปัญหา การขาดแคลนแพทย์ในชนบท รวมทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านสุขภาพอนามัยอีกด้วย
           ๖.แผนงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม  เป็นแผนงานเพื่อเพิ่มคุณภาพทางการศึกษาให้แก่เยาวชน อันเป็นทรัพยากรล้ำค่าของชาติ โดยการส่งเสริมการศึกษาในโรงเรียน เช่น สร้างอาคารเรียน จัดหาอุปกรณ์การเรียน การกีฬา ทุนการศึกษา และส่งเสริมการศึกษานอกโรงเรียน เช่น การจัดตั้งศูนย์เยาวชน การฝึกอาชีพให้แก่เยาวชน รวมทั้งการขยายโอกาส ทางการศึกษาและฝึกอาชีพแก่ทหารกองประจำการ เพื่อใช้ประกอบอาชีพ และก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในการ พัฒนาท้องถิ่นในอนาคต โดยไม่ละเลยที่จะเน้นให้เยาวชนและประชาชนรำลึกถึงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ตลอดจนศาสนาอันเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความดีงามไปพร้อมๆกันด้วย
          ๗.แผนงานการประชาสัมพันธ์และจิตวิทยา  ในโลกแห่งความเสมอภาคในการรับรู้ข่าวสารนี้ การประชาสัมพันธ์นับเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นจริง ไม่บิดเบือน แผนงานนี้จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อตอบสนอง ความต้องการบริโภคข่าวสารของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้งเพื่อเป็นการขจัดข่าวลือ และการ โฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ตลอดจนปลูกฝังอุดมการณ์รักและเทิดทูนในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ แก่ประชาชน ด้วยสื่อทุกชนิดที่หน่วยมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น หอกระจายข่าว สถานีวิทยุกระจายเสียงของหน่วย ตลอดจนการใช้สื่อบุคคล ด้วยการจัดชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ออกไปเยี่ยมเยียน เพื่อช่วยเหลือประชาชน และรับรู้ปัญหาอุปสรรคต่างๆในแต่ละชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
           ๘.แผนงานสังคมสงเคราะห์และอื่นๆ  ความเดือดร้อนสำหรับผู้ยากไร้นั้น เกิดขึ้นได้ทุกเวลา และจะหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น ในยามที่ต้อง ประสบภัยพิบัติ ดังนั้น แผนงานนี้จึงเป็นไปเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เดือดร้อน ได้รับความสูญเสีย ในยามที่เกิดภัยดังกล่าวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว ภัยจากการสู้รบบริเวณชายแดน หรือภัยอันเกิดจากอุบัติเหตุที่ส่งผลถึงผู้คนจำนวนมาก ซึ่งการช่วยเหลือ ตามแผนงานนี้ จะกระทำในนาม ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ศบภ.นทพ.) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติหลัก ในงานบรรเทาสาธารณภัย ของกองบัญชาการทหารสูงสุด และแม้กระทั่งในยามปกติ พี่น้องประชาชนที่ยากจน หรือเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน ก็ถือเป็นหน้าที่ที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จะต้องดูแล ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้พ้นจากความทุกข์นั้นเช่นกัน
         ทั้ง ๘ แผนงาน อันเป็นแผนงานหลักในการปฏิบัติงานพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนานั้น ถือว่าได้กำหนดไว้ให้สามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ได้อย่างครอบคลุม แต่เวลา ที่ผ่านมานั้น หากปราศจาก คน ที่ตั้งใจปฏิบัติตามแผนงานนั้น ด้วยความมุ่งมั่น และกระทำด้วยความรักความห่วงใยในพี่น้องประชาชนอย่างจริงใจมาทุกยุคทุกสมัยแล้ว …..เราก็คง ไม่มีโอกาสอยู่ในความทรงจำของพี่น้องประชาชน ในฐานะ นักรบสีน้ำเงิน อย่างที่เป็นมา…. และเมื่อนั้น แผนงานใดใดก็คงไร้ค่า





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น